วันพฤหัสบดีที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

บทบาทและหน้าที่ของพระสงฆ์ในฐานะต่างๆ

1. หน้าที่และบทบาทของพระภิกษุในฐานะเป็นพระนักเทศน์ พระธรรมฑูต พระธรรมจาริก พระวิทยากร พระวิปัสสนาจารย์ และพระนักพัฒนา ทั้งพระภิกษุและสามเณร มีบทบาทและหน้าที่ในการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา ดังนี้ 1.1 การศึกษาตามหลักไตรสิกขา คือ จะต้องศึกษาทั้ง 3 ด้าน (1) ศีล เป็นการศึกษาด้านพระวินัย (ศีล 227 ข้อ) ธรรมเนียม วัตรปฏิบัติ และมารยาทต่าง ๆ ของพระสงฆ์ เพื่อให้ปฏิบัติได้อย่างถูกต้องและด้วยอาการสำรวมระวัง (2) สมาธิ เป็นการศึกษาด้านสมาธิ ฝึกเจริญวิปัสสนาเพื่อให้จิตสงบ (3) ปัญญา เป็นการศึกษาเพื่อพัฒนาด้านปัญญา โดยใช้ปัญญาคิดพิจารณาให้เข้าใจถึงสัจธรรมหรือความจริงของชีวิต รวมทั้งเป็ฯเครื่องมือดับทุกข์หรือแก้ไขปัญหาชีวิตต่าง ๆ 1.2 เป็นพระนักเทศน์ ได้แก่ พระภิกษุที่ปฏิบัติหน้าที่สอนหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาแก่เด็ก เยาวชน และประชาชนทั่วไป โดยการแสดงธรรม (เทศน์) และจะต้องผ่านการฝึกอบรมเป็นพระนักเทศน์ตามหลักสูตรของมหาเถรสมาคมแต่งตั้ง มี 2 ประเภท คือ (1) พระนักเทศน์แม่แบบ หมายถึง พระนักเทศน์ที่ผ่านการอบรมจากคณะกรรมการฝึกอบรมพระนักเทศน์ที่มหาเถรสมาคมแต่งตั้ง เพื่อไปจัดอบรมพระนักเทศน์ประจำจังหวัด (2) พระนักเทศน์ประจำจังหวัด หมายถึง พระนักเทศน์ที่ผ่านการอบรมปฏิบัติหน้าที่เทศน์ภายในจังหวัดที่สังกัดหรือสถานที่ที่ทายกอาราธนา นอกจากนั้น พระภิกษุทั่วไปที่มีความรู้ความสามารถ ก็สามารถเป็นพระนักเทศน์ได้ โดยให้การสอนหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา และ ต้องมีความรู้ทางด้านธรรมเป็นอย่างดียิ่ง 1.3 เป็นพระธรรมฑูต เป็นพระภิกษุที่ทำหน้าที่เผยแผ่พระพุทธสาสนาทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งจะต้องได้รับการแต่งตั้งจากคณะสงฆ์ให้เผยแผ่พระพุทธศาสนา ในนามคณะสงฆ์ ถ้าเผยแผ่เอง เรียกว่าธรรมกถึก หรือพระนักเทศน์ 1.4 เป็นพระธรรมจาริก ได้แก่ พระภิกษุที่ออกไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาแก่ชาวเขา โดยได้รับความเห็นชอบจากคณะสงฆ์ และกรมประชาสงเคราะห์ โดยการปฏิบัติงานด้านการเผยแผ่พระพุทธศาสนาควบคู่ไปกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตชาวเขาเผ่าต่างๆ รวม 6 เผ่า ได้แก่ ม้ง เย้า มูเซอ ลีซอ อีก้อ และกระเหรี่ยง ณ สถานที่ต่างๆ ในภาคเหนือ 1.5 เป็นพระวิทยากร ได้แก่ พระภิกษุผู้ปฏิบัติหน้าที่ในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา อบรมให้ความรู้ด้านคุณธรรมจริยธรรมแก่หน่วยงานทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชนทั่วไป และเป็นผู้นำในการพัฒนาชุมชน ตลอดจนถึงการจัดอบรมต่างๆ ตามที่คณะสงฆ์มอบหมาย หรือหน่วยงานนั้นๆ ขอความอนุเคราะห์ นอกจากนั้น พระวิทยากร ต้องเป็นผู้ที่มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องการอบรมมาแล้วเป็นอย่างดี มีทักษะความคล่องตัวในการสอนตามเนื้อหาวิชาเฉพาะที่ได้รับมอบหมาย มีการเตรียมการล่วงหน้า มีสุขภาพดีทั้งกายและจิตใจ มีมนุษยสัมพันธ์ดี มีบุคลิกลักษณะดี และเหมาะสมเป็นผู้นำและผู้ตามที่ดี มีความสุภาพอ่อนโยน และมีศรัทธาในเรื่องการอบรมอย่างแท้จริง มีความรับผิดชอบต่องานที่ได้รับมอบดีไม่หลีกเลี่ยง และตรงต่อเวลา 1.6 เป็นพระวิปัสสนาจารย์ ได้แก่ พระภิกษุผู้ทำการสอนการปฏิบัติกรรมฐานตามหลักคำสอนของพระพุทธศาสนา ซึ่งต้องมีคุณสมบัติ กล่าวคือ ได้รับการคัดเลือกให้เข้ารับการอบรมโดยผู้บังคับบัญชาระดับจังหวัด และผ่านการอบรมหลักสูตรพระวิปัสสนาจารย์จากกรมการศาสนา นอกจากนั้น พระภิกษุที่มีความรู้ความเข้าใจในการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน ก็อาจเผยแผ่การปฏิบัติกรรมฐานได้ แต่ต้องเป็นไปตามหลักคำสอนของพระพุทธศาสนา 1.7 พระนักพัฒนา ได้แก่ พระสงฆ์ที่ทำงานสงเคราะห์ชุมชนด้วยการให้คำแนะนำหรือช่วยเหลือชาวบ้านด้วยกิจกรรมต่างๆ เพื่อให้ความเป็นอยู่ของชาวบ้านดีขึ้น เช่น การจัดตั้งศูนย์เด็กในวัด การอบรมเยาวชน การทำโครงการฝึกอาชีพ ธนาคารข้าว หรือการส่งเสริมการแพทย์พื้นบ้าน ให้คำแนะนำด้านสุขอนามัย รวมทั้งการส่งเสริมชาวบ้านในเรื่องเกษตรผสมผสาน หรือเกษตรกรรมเพื่อการพึ่งตนเอง ซึ่งการทำงานดังกล่าวนี้เกิดจากความคิดริเริ่มของท่านเอง มิใช่เพราะการชักนำของหน่วยงานรัฐหรือเพื่อสนองนโยบายรัฐ พระสงฆ์เหล่านี้ได้ทำให้สังคมไทยได้ตระหนักว่า พระนั้นไม่ได้มีบทบาทเฉพาะพิธีกรรมแต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ท่านยังมีบทบาทที่สำคัญในพัฒนาชุมชนและสังคมให้มีความเป็นอยู่ที่ดีอีกด้วย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น