วันพฤหัสบดีที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

การปฏิบัติตนที่เหมาะสมต่อพระภิกษุ ทางกาย วาจา และทางใจ


การปฏิบัติตนที่เหมาะสมต่อพระภิกษุ ทางกาย วาจา และทางใจ
พุทธศาสนิกชนพึงปฏิบัติตนให้เหมาะสม สงเคราะห์และบูชาพระภิกษุตามควรแก่กาลเทศะ ทั้งนี้เพราะพระภิกษุเป็นสาวกของพระบรมศาสนา ถือว่าผู้มีความประพฤติดีและปฏิบัติชอบ ทั้งต่อพระพุทธศาสนาและต่อสังคม การปฏิบัติตนที่เหมาะสมต่อพระสงฆ์ให้ถูกต้องตามหลักพระพุทธศาสนา และระเบียบประเพณีที่เป็นแบบแผนสืบต่อกันมา รวมทั้งช่วยสิ่งเสริมพระภิกษุให้ประกอบกิจทางพระพุทธศาสนา ซึ่งถือว่าเป็นการเผยแผ่พระพุทธศาสนา และเป็นผู้สืบทอดพระพุทธศาสนาให้ยั่งยืนนาน ในอันที่จะก่อประโยชน์ให้แก่สังคม และมนุษยชาติโดยรวมสืบต่อไป

1. การปฏิบัติตนที่เหมาะสมต่อพระภิกษุทางกาย

การปฏิบัติตนที่เหมาะสมต่อพระภิกษุทางกาย เป็นการแสดงความเคารพต่อพระภิกษุซึ่งแสดงถึงความเคารพอ่อนน้อม แสดงถึงมารยาทที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาเป็นระเบียบประเพณี การปฏิบัติตนที่เหมาะสมทางกาย เช่น การลุกขึ้นต้องรับ และยกมือไหว้ เมื่อพระภิกษุมาถึงยังบริเวณพิธีนั้น ๆ การประนมมือฟังพระธรรมเทศนา การเจริญพระพุทธมนต์ การฟังสวดอภิธรรม หรือขณะที่พูดกับพระภิกษุ เป็นต้น การกราบแบบเบญจางคประดิษฐิ์ การถวายสิ่งของให้พระสงฆ์ด้วยการประเคน การเดินผ่านพระสงฆ์ การยืนต้อนรับพระสงฆ์ การนั่งในที่ที่เหมาะสม ซึ่งจะต้องปฏิบัติให้ถูกต้องตามแบบแผน เป็นต้น นอกจากนั้นจะต้องไม่แสดงกิริยาที่ไม่สุภาพอันเป็นการไม่เคารพต่อพระภิกษุ ไม่แสดงกิริยาดูหมิ่นเหยียดหยามต่อพระภิกษุ ไม่แสดงกิริยาเป็นกันเองสนิทสนมกับพระภิกษุเกินควรแม้จะเคยสนิทสนมกันมาก่อนก็ตาม

2. การปฏิบัติตนที่เหมาะสมต่อพระภิกษุทางวาจา 

การปฏิบัติตนที่เหมาะสมต่อพระภิกษุทางวาจา เป็นการแสดงความเคารพต่อพระภิกษุด้วยวาจาทั้งต่อหน้าและลับหลัง เช่น การพูดจากกับพระภิกษุด้วยคำสุภาพนุ่มนวล ใช้คำศัพท์เฉพาะที่พูดกับพระภิกษุให้อย่างถูกต้อง นั่นคือใช้สรรพนามแทนตนเองและแทนพระสงฆ์ในระดับต่าง ๆ ได้อย่างถูกต้อง ไม่พูดล้อเล่น ไม่พูดคำหยาบ หรือพูดดูหมิ่นพระภิกษุ และควรเป็นเรื่องที่สมควรหรือเหมาะสมที่จะพูดกับพระสงฆ์ เป็นต้น

3. การปฏิบัติตนที่เหมาะสมต่อพระภิกษุทางใจ

การปฏิบัติตนที่เหมาะสมต่อพระภิกษุทางใจ เป็นการแสดงความเคารพต่อพระภิกษุด้วยจิตใจที่บริสุทธิ์ ด้วยความเคารพอย่างแท้จริง ไม่ได้เกิดจากการเสแสร้งแกล้งทำ ซึ่งพระพุทธศาสนาถือว่า การคิดคำนึงด้วยใจ (มโนกรรม) เป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะถ้าความคิดมีพลังมากก็จะเป็นแรงผลักดันให้เกิดพฤติกรรมทางกายและวาจาได้ เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าจึงมุ่งสอนให้คิดคำนึงในเรื่องที่ดีงาม ที่เป็นกุศล ไม่คิดในแง่ร้ายต่อใคร ดังนั้นเมื่อเราทราบว่าพระภิกษุเป็นผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติถูกต้อง สมควรที่จะให้ความเคารพสักการะ เป็นผู้ที่มีคุณต่อพระพุทะศาสนาและศาสนิกชนอย่างมาก เป็นผู้สืบทอดและธำรงพระพุทธศาสนาให้ดำรงอยู่ยาวนานสืบไป เราจึงควรแสดงความเคารพท่านทางใจทางที่ดีที่สุดก็คือ การเคารพพระภิกษุด้วยใจที่บริสุทธิ์ ได้แก่ การระลึกถึงพระคุณของพระภิกษุแต่ในส่วนที่ดี ตั้งใจที่จะนำคำสอนของท่านไปปฏิบัติ รองลงมาได้แก่ การไม่คิดที่จะทำให้ท่านยุ่งยากเดือดร้อน คิดหาโอกาสที่จะสนับสนุนบำรุงท่านด้วยปัจจัยสี่ หรือคิดที่จะสร้างสรรค์แต่สิ่งที่เป็นประโยชน์ พร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือท่านเท่าที่โอกาสจะอำนวย เป็นต้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น